Zamenhof.info

ชีวประวัติของซาเมนฮอฟ (ย่อ)

ลุดวิก เลย์เซร์ ซาเมนฮอฟ (Ludwik Lejzer ZAMENHOF ) (หรือชื่อที่รู้จักกันในภาษาเอสเปรันโต Ludoviko Lazaro) เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1859 ใน Ulica Zielona (“ถนนสีเขียว”) เมืองเบียวลิสตอก ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศโปแลนด์) บิดาของซาเมนฮอฟมีชื่อว่า มาร์โก ซาเมนฮอฟ (Marko Zamenhof) มารดาชื่อ โรซาเลีย ซาเมนฮอฟ (Rozalia Zamenhof) บิดามีอาชีพเป็นครูสอนภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภูมิศาสตร์ ท่านใช้ภาษารัสเซียกับลูก ๆ ส่วนมารดาเป็นแม่บ้านและใช้ภาษายิดดิช ซาเมนฮอฟนั้นเริ่มแสดงความชื่นชอบภาษามาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก ซึ่งในขณะที่เขาเป็นเด็ก เขาเคยมีความฝันว่าอยากจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง เขาเคยเขียนตั้งแต่บทกวีไปจนถึงประพันธ์บทละครซึ่งมีความยาว 5 องก์ เมื่อซาเมนฮอฟเติบโตขึ้น เขาเขียนระบุใว้ในจดหมายว่าเขานั้นสามารถพูดภาษารัสเซีย โปแลนด์ เยอรมัน ได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนภาษาฝรั่งเศสนั้นสามารถอ่านได้ แต่การพูดนั้นทำได้สู้ดีนัก และนอกจากนี้ ซาเมนฮอฟเคยเรียนภาษาอื่น ๆ อีกประมาณ 8 ภาษา

สภาพแวดล้อมของสถานที่ที่ซาเมนฮอฟเกิดและเติบโตมานั้น ไม่ได้เป็นสถานที่ที่ไม่มีความสุขเลย เพราะเป็นเมืองที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกันอย่างไม่มีความเป็นมิตร ในตอนที่ซาเมนฮอฟเป็นเด็ก ขณะที่เขาออกไปข้างนอก เขามักจะเห็นการทำร้ายกันระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองส่งผลให้ซาเมนฮอฟมีแนวคิดต่อความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างคนต่างเชื้อชาตินั้นเกิดจากการที่ไม่มีภาษากลางใช้สื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้เอง ความคิดเรื่องภาษากลางก็เริ่มผุดขึ้นมาในใจของซาเมนฮอฟ ตั้งแต่ตอนนั้นเองเขาก็ไม่เคยละทิ้งความคิดนี้ไปเลย

ซาเมนฮอฟ (คนแรกทางด้านหลังทางซ้าย) และเพื่อนร่วมชั้นในวอร์ซอ ปี 1873

ในปี 1865 ซาเมฮอฟเข้าศึกษาระดับประถมศึกษา และในปี 1869 ก็เข้าศึกษาในระดับมัธยม และที่นี่เองเขาได้เริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ เขาเป็นนักเรียนที่เก่งมาก ครูมักจะชมว่าเขาเป็นเด็กมีความสามารถ ต่อมาในปี 1873 ครอบครัวของซาเมนฮอฟได้ย้ายไปอาศัยในวอร์ซอ ซึ่งที่นั้นบิดาของซาเมนฮอฟได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง

สำหรับความทรงจำที่ไม่อาจลืมเลือนได้ของซาเมนฮอฟทก็คือ การที่ได้อาศัยอยู่ที่วอร์ซอ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว เขารู้สึกราวกับว่าที่นั้นไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เลย เขาเห็นเพียงแต่ชาวรัสเซีย ชาวโปแลนด์ ชาวยิว... ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นศัตรูกันเองเสียด้วย ส่วนตัวของซาเมนฮอฟเองนั้นก็รับรู้แล้วว่าเขานั้นเป็นชาวยิว เพราะว่าสถานการณ์ทางการเมืองของจักรวรรดิรัสเซียในขณะนั้นไม่สู้ดีต่อชาวยิวสักเท่าไหร่

ในวอร์ซอนี่เอง ซาเมนฮอฟได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการต่อต้านชาวยิว ซึ่งทำให้เขาเข้าร่วมในขบวนการไซออนิซม์ แต่ "ความเป็นมนุษย์" ซึ่งแนวคิดในตอนที่เขายังเด็กอยู่ และการตระหนักถึงการรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเขา เพราะเหตุนี้เองในไม่ช้าซาเมนฮอฟได้ออกจากขบวนการไซออนิซม์ แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ยังคงรู้สึกถึงความทุกข์ระทมของชาวยิวด้วยกันอยู่เสมอ

ต่อมาซาเมนฮอฟมีความคิดว่าภาษากลางของมนุษยชาตินั้นจะต้องเป็นภาษาที่มีความเป็นกลาง ไม่เป็นภาษาของชนชาติใด ๆ ในโลก เพราะว่าเขาได้สัมผัสถึงความอิจฉาริษยาระหว่างผู้คนต่างชาติ และรับรู้ได้เลยว่าจะไม่มีภาษาของชนชาติใดที่จะได้รับเลือกให้เป็นภาษากลาง ต่อมาในปี 1873 ในขณะที่เขาเป็นนักเรียนมัธยมที่ได้เริ่มเรียนภาษาโบราณ เขาจึงมีความคิดที่จะรื้อฟื้นการใช้ภาษาเหล่านั้น แต่ต่อมาเขาล้มเลิกความคิดนี้ เพราะว่าไม่มีภาษาใดที่เหมาะสมสำหรับจุดประสงค์ที่เขาได้ตั้งเอาไว้ มีเพียงแต่ภาษาใหม่ที่ต้องประดิษฐ์ขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเขาไม่ได้เพียงแค่วาดฝันถึงภาษากลางเพียงเท่านั้น แต่เขาเริ่มที่จะสร้างมันขึ้นมา

Lingwe uniwersala

ในขณะที่ซาเมนฮอฟอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 เขาได้เรียนหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นระบบไวยากรณ์ที่ง่ายมากเมื่อเทียบกับไวยากรณ์ภาษากรีกหรือภาษาละติน ซึ่งจุดประกายให้ซาเมนฮอฟคิดได้ว่าภาษาที่มีไวยากรณ์ซับซ้อนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อภาษาที่เขากำลังสร้าง เขาจึงเริ่มตัดหลักไวยากรณ์ที่ไม่จำเป็นออกไป โดยจะเหลือเพียงกฎทางไวยากรณ์ที่มีเพียงแค่สองสามหน้ากระดาษเท่านั้น ซึ่งนั้นทำให้ซาเมนฮอฟมีกำลังใจในการสร้างสรรค์ภาษา แต่ปัญหาที่ทำให้หนักใจก็คือคำศัพท์ที่มีจำนวนมากมายมหาศาล

และแล้ววันหนึ่งซาเมนฮอฟได้สังเกตเห็นป้ายร้านค้าที่เขียนว่า швейцарская ("ตู้ยาม") และ кондитерская ("ร้านขายของหวาน") และทันใดนั้นเองก็คิดขึ้นได้ว่าอะไรจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ นั่นก็คือ คำปัจจัย แม้แต่คำง่าย ๆ (เช่น "แม่" "มีด") ก็สามารถเปลี่ยนรูปคำได้จากการใช้คำปัจจัยเป็นตัวช่วย และยังทำให้การจำคำเหล่านั้นมีความง่ายขึ้นอีกด้วย สำหรับผู้จัดทำพจนานุกรมจะสังเกตได้ว่าคำต่าง ๆ ในภาษานั้น เป็นคำที่มีความจำเพาะที่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าคำเหล่านั้นมีความเป็นสากล (คือเป็นคำศัพท์ที่คล้ายกันในหลายภาษา) ซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์สำหรับภาษาในอนาคต และโดยขุมทรัพย์นี้ซาเมนฮอฟก็นำมาเป็นฐานข้อมูลสำหรับการสร้างคำในภาษาของเขา โดยคำเหล่านั้นมาจากคำในภาษากลุ่มภาษาเจอร์แมนิกและกลุ่มภาษาโรมานซ์ โดยเลือกรูปแบบของคำที่ไม่ซับซ้อนและมีความเป็นสากล

ซาเมนฮอฟ ปี 1879

ในปี 1878 ภาษาของซาเมนฮอฟในวัย 19 ปี ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว เขาตั้งชื่อให้กับภาษาว่า “Lingwe uniwersala” โดยมีเพื่อนร่วมชั้นเป็นผู้ที่ได้เรียนภาษานี้ ซาเมนฮอฟฉลองการกำเนิดของภาษาที่บ้าน อันที่จริงแล้วภาษา “Lingwe uniwersala” กับภาษาเอสเปรันโตในตอนนี้มีความแตกต่างกันมาก แต่นั้นก็เป็นก้าวแรกของภาษาที่เขาสร้างขึ้น

ต่อมาในปี 1879 ซาเมนฮอฟย้ายไปที่มอสโกเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ แต่ซาเมนฮอฟเองมีความสนใจในวิชาภาษามากกว่า แต่บิดาเห็นว่านักภาษาศาสตร์หรือนักวรรณคดีศึกษาเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงเท่ากับแพทย์ และพูดกับซาเมนฮอฟว่าภาษานั้นไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวเราได้ ดังนั้นซาเมนฮอฟจึงต้องทำตามคำแนะนำของบิดาและเริ่มศึกษาวิชาแพทย์ มีเรื่องเล่ากันว่า บิดาของซาเมนฮอฟได้เผาหนังสือที่เขาเขียนเกี่ยวกับ “Lingwe uniwersala” เอาไว้ ในตอนที่กำลังศึกษาอยู่ที่มอสโก โดยบิดาของซาเมนฮอฟต้องการให้ซาเมนฮอฟจดจ่ออยู่กับการศึกษาเพื่อในอนาคตจะได้เป็นแพทย์ที่ดี

Lingvo internacia

ในปี 1881 ซาเมนฮอฟต้องย้ายกลับมาศึกษาที่วอร์ซอแทน เนื่องมาจากสภาพทางการเงินของบิดาที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าเช่าห้องและค่าใช้จ่ายประจำวันได้ และนอกจากซาเมนฮอฟก็ยังมีพี่น้องที่ต้องใช้เงินในการศึกษาเล่าเรียน

ในขณะที่ย้ายบ้านมาที่วอร์ซอแล้วนั้น ซาเมนฮอฟทราบว่าบิดาของตนได้เผาสมุดของตนที่เขียนเกี่ยวกับ “Lingwe uniwersala” ดังนั้นเขาจึงเริ่มสร้างภาษาของเขาใหม่อีกครั้ง เพราะว่าสิ่งที่จำเป็นต่อภาษานั้นเขายังคงจำมันได้ ในตอนแรกเขาดูเหมือนว่าเสียใจที่ไม่มีสมุดที่เขาเขียนไว้ก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตามเขาเริ่มตระหนักได้ว่าภาษาที่เขาคิดในตอนแรกนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งในทางทฤษฎีภาษาที่เขาสร้างนั้นมีความสมบูรณ์มาก แต่กับตรงกันข้ามในทางปฏิบัติ ซาเมนฮอฟเริ่มแปลผลงานต่าง ๆ จากภาษาที่เขาประดิษฐ์โดยหลีกเลี่ยงการแปลแบบตรงตัวตามอักษร และลองพยายามคิดเป็นภาษาที่เขาประดิษฐ์โดยตรง หลังจากนั้นเขาก็สังเกตได้ว่าภาษาของเขามีวิธีการเฉพาะตัว ราวกับว่าภาษานี้มีชีวิตเป็นของตัวเอง โดยที่ไม่มีอิทธิพลที่มาจากภาษาอื่น ภาษาใหม่นี้ซาเมนฮอฟตั้งชื่อว่า “Lingvo internacia” ต่อมาในปี 1884 เป็นช่วงปีสุดท้ายของการศึกษาในมหาวิทยาลัย และภาษาที่เขาประดิษฐ์ขึ้นก็มีรูปร่างเช่นเดียวกับภาษาเอสเปรันโตในปัจจุบัน

ในปี 1885 ซาเมนฮอฟเดินทางไปประเทศลิทัวเนียเพื่อฝึกงาน และได้พักอาศัยอยู่กับน้องสาว ที่นั้นเขาพยายามค้นหาสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือภาษาประดิษฐ์ของเขา ซึ่งใช้เวลาอยู่ประมาณสองปีจึงสามารถหาสำนักพิมพ์ได้ ในเวลาเดียวกันนั้นเองเขาก็ได้ฝึกฝนในการเป็นจักษุแพทย์ เนื่องจากเป็นงานที่สงบ ไม่วุ่นวาย และต่อจากนั้นไม่นานเขาก็ได้ย้ายกลับไปยังวอร์ซอ

ซาเมนฮอฟ และ คลารา ซิลเบร์นิก ปี 1887

ช่วงฤดูหนาวปี 1886-1887 ซาเมนฮอฟใช้ชีวิตอยู่ในวอร์ซอและที่นั้นเขาได้พบกับคลาร่า ซิลเบร์นิก (Klara Zilbernik) ซึ่งในขณะนั้นเธอได้พักอาศัยอยู่กับน้องสาวของซาเมนฮอฟ และซาเมนฮอฟก็ตกหลุมรักเธอ บิดาของคลาร่าเป็นเจ้าของโรงงานสบู่ ซึ่งผู้นี้เองที่เป็นผู้ที่ให้เงินทุนสำหรับการพิมพ์หนังสือ สำหรับการตีพิมพ์ซาเมนฮอฟได้ตัดสินใจที่จะใช้นามปากกา Doktoro Esperanto (คุณหมอผู้ที่มีความหวัง) โดยซาเมนฮอฟมีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีสำหรับเขา (แพทย์) หากผู้คนมองเขาเป็นผู้วิเศษหรือเป็นพวกที่ฝักไฝ่ในการเคลื่อนไหวบางอย่าง เขาเองได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เขาได้เสี่ยงกับความสงบสุขของตัวเองและครอบครัว

แต่อย่างไรก็ตามในปี 1887 เป็นปีที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของซาเมนฮอฟ: วันที่ 26 กรกฎาคม เป็นวันเกิดของภาษาเอสเปรันโต และวันที่ 9 กันยายน เป็นวันแต่งงานของซาเมนฮอฟกับคลาร่า หญิงสาวที่ได้ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับซาเมนฮอฟตลอดไป

การกำเนิดของภาษาเอสเปรันโต

หนังสือเล่มแรกของภาษาเอสเปรันโต

วันที่ 26 กรกฎาคมเป็นวันที่หนังสือเล่มแรก (Unua Libro) ของ ภาษา ลิงกโว อินเตรนาซิอา (Lingvo Internacia) หรือปัจจุบันคือภาษาเอสเปรันโต ได้เริ่มออกวางจำหน่าย ซึ่งวันนี้เปรียบเสมือนวันเกิดของภาษา ชื่อในภาษารัสเซียของหนังสือเล่มนี้คือ Международный языкъ. Предисловіе и полный учебникъ. (“ภาษาสากล. คำนา และแบบเรียนฉบับสมบูรณ์”) ในตอนแรกนั้นเป็นการตีพิมพ์ในฉบับภาษารัสเซีย ต่อมาปลายปี 1887 ได้มีการจัดตีพิมพ์ในภาษาโปแลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และฉบับภาษารัสเซียตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ส่วนฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1888 แต่การแปลนั้นไม่สู้ดีนักจนทำให้ซาเมนฮอฟต้องหยุดการจัดจำหน่าย จนกระทั่งชาวไอร์แลนด์นามว่า Richard H. Geoghegan ที่ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษได้เข้ามาช่วยในการแปลอีกครั้ง

ภาษาใหม่นี้ได้รับการยอมรับจากผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ถึงแม้ว่าภาษาโวลาปึก (Volapük) ภาษาประดิษฐ์ในปี 1879 จะได้รับความนิยมอยู่บ้างก่อนหน้านี้ แต่ภาษาเอสเปรันโตก็มีผู้ใช้ภาษานี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทั่วโลก ซึ่งเป็นภาษาที่มีความเหมาะสมในการใช้สื่อสารในระดับนานาชาติ อันเนื่องมาจากความง่าย กฎเกณฑ์ที่ตายตัว และความงดงามของภาษา นี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้ซาเมนฮอฟรู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งและดีใจที่ยังมีผู้ที่มีความคิดเหมือนกัน ในที่สุดซาเมนฮอฟได้เห็นแล้วว่าภาษาของเขากลายเป็นภาษาที่มีชีวิต เขาเริ่มได้รับจดหมายเกี่ยวกับ คำถาม คำแนะนำ และการขออนุญาตจากผู้คนที่สนในภาษาของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เขียนมาด้วยภาษาเอสเปรันโต

หลังจากการประสบความสำเร็จในช่วงของหนังสือเล่มแรก ต่อมาในปี 1888 หนังสือเล่มที่สอง “Dua Libro” (Dua Libro de l’ Lingvo Internacia) ก็ได้ออกจำหน่าย ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายถึงภาษา Lingvo Internacia และหนังสือเล่มแรก โดยเขียนในภาษาเอสเปรันโต ต่อมาในปี 1889 La Esperantisto (มีรูปแบบเหมือนหนังสือพิมพ์) ฉบับแรกก็ได้ออกตีพิมพ์ในเมือง Nuremberg ประเทศเยอรมัน และชมรมภาษาเอสเปรันโตที่ต่าง ๆ ทั่วโลก (ส่วนใหญ่เริ่มแรกจะอยู่ในยุโรป) เริ่มรวมตัวกันเพื่อสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ

ในปี 1889 ซาเมนฮอฟต้องย้ายบ้านอีกครั้ง อันเนืองมาจากปัญหาทางการเงิน โดยต้องจากครอบครัวอันเป็นที่รักไปอยู่ที่เมือง Kherson (ภาคใต้ของประเทศยูเครนในปัจจุบัน) แต่ที่นั้นซาเมนฮอฟก็ไม่สามารถหางานทำได้ ในเดือนพฤษภาคม 1890 ซาเมนฮอฟย้ายกลับไปที่วอร์ซอ พร้อมกับคลาร่า และลูกอีกสองคน คือ อาดัมและโซเฟีย ที่ก่อนหน้านี้พวกเขาได้พักอาศัยกับพ่อของคลาร่าที่เมือง Kaunas (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลิทัวเนีย) หลังจากผ่านไปเป็นเวลาครึ่งปี ครอบครัวของซาเมนฮอฟก็ได้กลับมาอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า แต่ถว่าปัญหาทางการเงินยังคงรุมเร้าซาเมนฮอฟอยู่เป็นเวลานาน

ตอนนี้ภาษาเอสเปรันโตเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซาเมนฮอฟเริ่มมีการติดต่อทางจดหมายกับผู้ที่เริ่มใช้ภาษาเอสเปรันโตจากในประเทศต่าง ๆ การติดต่อนี้ต้องใช้เวลาและเงินเป็นอย่างมาก สถานการณ์ทางการเงินของซาเมนฮอฟก็เริ่มกลับมาที่จะไม่ดีอีกครั้ง จึงทำให้ซาเมนฮอฟต้องย้ายที่อยู่ใหม่อีกครั้งไปยังเมือง Grodno (ปัจจุบันตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศเบลารุส) โดยครอบครัวจะตามมาทีหลัง ซาเมนฮอฟและครอบครัวอาศัยอยู่ที่นั้นถึงปี 1898 จึงย้ายกลับไปที่วอร์ซอ

ซาเมนฮอฟไม่ได้ทุ่มเทให้กับการสร้างภาษาเพียงอย่างเดียว แต่เขาก็ได้ทุ่มเทให้กับการอ่านจดหมายที่ส่งมาหาเขา และเขียนตอบกลับซึ่งมีจดหมายเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นเขายังเขียนบทความและเขียนหนังสืออีกด้วย อย่างไรก็ตามซาเมนฮอฟยังสามารถหาเวลาเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านการแพทย์ได้ อย่างเช่นในปี 1897 เขาได้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับจักษุวิทยา ณ มหาวิทยาลัยเวียนนา เป็นครั้งที่สอง

ขณะที่ซาเมนฮอฟอาศัยอยู่วอร์ซอ เขาอยู่ในย่านของชาวฮิบรู ซึ่งเป็นที่ที่ซาเมนฮอฟอาศัยจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่นั้นเขาทำงานเป็นจักษุแพทย์ ค่ารักษาของซาเมนฮอฟนั้นซึ่งเมื่อเปรียบเทียบค่ารักษากับจักษุแพทย์ในเมื่ออื่น ๆ ถือว่าถูกมาก แต่ทว่าบ่อยครั้งที่ซาเมนฮอฟรับรักษาคนไข้ให้ฟรี หากเขาเห็นว่าคนคนนั้นไม่มีเงินจริง ๆ นี้อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นแพทย์ใจบุญของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะว่าผู้คนมากมายสามารถมารักษาได้เพียงแต่กับซาเมนฮอฟเท่านั้น เนื่องจากค่ารักษาที่ไม่แพง ซาเมนฮอฟนั้นต้องทำงานทั้งวัน ส่วนตอนกลางคืนเขาจะทุ่มเทในกับภาษาเอสเปรันโต ซาเมนฮอฟใช้ชีวิตอย่างมีความเอื้อเฟื้อ พอมีพอกิน จนกระทั้งเสียชีวิต

การประชุมครั้งแรก

ซาเมนฮอฟในการประชุมใหญ่ภาษาเอสเปรันโตสากลครั้งแรกที่เมือง Boulogne-sur-Mer

ตั้งแต่ปี 1898 ภาษาเอสเปรันโตถูกเผยแพร่ไปในหลายประเทศ ซึ่งผลของการเผยแพร่นี้เองนำมาสู่การจัดการประชุมในที่ต่าง ๆ เริ่มจากในปี 1905 มีการจัดการประชุมของภาษาเอสเปรันโตเป็นครั้งแรก ณ เมือง Boulogne-sur-Mer ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 12 สิงหาคม ครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 688 คน จาก 20 ประเทศ และซาเมนฮอฟก็ได้เข้าร่วมและบรรยายในการประชุมครั้งนี้ด้วย ในช่วงเวลานี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำอีกช่วงหนึ่งของซาเมนฮอฟ ซึ่งทำให้คนเห็นว่าภาษาเอสเปรันโตนั้นสามารถนำเอามาใช้ได้จริง ๆ และที่สำคัญยังเป็นภาษาที่สามารถเข้าใจได้ง่ายถึงแม้ว่าจะมีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ ในช่วงชีวิตของซาเมนฮอฟได้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมดเก้าครั้ง สำหรับการประชุมในครั้งที่สิบ ปี 1914 ต้องยกเลิกไปเพราะเนื่องจากขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่วนภรรยาของซาเมนฮอฟนั้นจะคอยติดตามไปทุก ๆ การประชุม นั้นก็หมายความว่าเธอก็ได้เข้าร่วมทุก ๆ การประชุม เช่นเดียวกับซาเมนฮอฟ

ในช่วงระหว่างที่ภาษาเอสเปรันโตมีความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การเริ่มปรากฏตัวของภาษาได้มีการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงภาษามาโดยตลอด ในช่วงเริ่มแรกนั้นซาเมนฮอฟรับฟังทุกข้อเสนอและตอบลงในนิตยสาร La Esperantisto แต่ต่อมาเมื่อข้อเสนอมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซาเมนฮอฟรู้ดีว่าข้อเสนอต่าง ๆ นั้นขัดแย้งกันเอง ซึ่งซาเมนฮอฟเคยมีประสบการณ์และเข้าใจดีเลยว่า สิ่งซึ่งในทางทฤษฎีที่ดูแล้วมีความสมบูรณ์นั้น อาจจะตรงข้ามกันในทางปฏิบัติก็ได้ และอีกส่วนหนึ่งคือข้อเสนอบางอย่างจะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้ภาษาเอสเปรันโตเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น โดยอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้ใช้คนอื่น ๆ ก็ได้

Fundamento de Esperanto (หลักพื้นฐานของภาษาเอสเปรันโต)

ซาเมนฮอฟปฏิเสธข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงในภาษาเอสเปรันโต และเสียงส่วนใหญ่ของผู้ใช้ภาษาเอสเปรันโตก็เห็นด้วยกับเขา โดยที่ซาเมนฮอฟเองก็ไม่เคยอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของภาษา ดังที่เขาได้เคยเขียนไว้ว่า เราไม่อยากเป็นผู้สร้างภาษา แต่ขอเป็นเพียงผู้ริเริ่มสร้าเท่านั้น ซาเมนฮอฟเห็นว่าชุมชนผู้ใช้ภาษาเอสเปรันโตและกระบวนการต่าง ๆ ที่เหมือนกับภาษาธรรมชาติภาษาอื่น ๆ จะทำให้ภาษาสมบูรณ์เอง นอกจากนี้ซาเมนฮอฟให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ภาษาเอสเปรันโตจะต้องมีชีวิต เติบโต และพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามกฏที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเช่นเดียวกับภาษาอื่น ๆ และโดยเหตุนี้เองในปี 1905 Fundamento de Esperanto (หลักพื้นฐานของภาษาเอสเปรันโต) ได้ถูกยอมรับว่าเป็นเสมือนหนังสือสำคัญของภาษาเอสเปรันโตที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แต่ว่าในหนังสือเล่มนี้ก็มีการกล่าวถึงแนวคิดและข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขภาษาเพื่อให้ภาษามีชีวิตอยู่ต่อไปเอาไว้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ในปี 1907 เกิดขบวนการการเคลื่อนไหวของภาษาเอสเปรันโตและการเกิดของภาษาอิโด (Ido) ซึ่งนั้นเหมือนกับว่าซาเมนฮอฟถูกตีแสกหน้าอย่างแรงจนพูดไม่ออก แต่เขาเองก็พยายามที่จะคลายความขัดแย้งอย่างสุภาพและสันติ และไม่เคยที่จะแสดงความเป็นศัตรูกับผู้ที่ต่อต้าน แม้กระทั่งกับ หลุยส์ เดอ บัวฟรองต์ (Louis de Beaufront) (แกนนำคนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงภาษาเอสเปรันโตแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า "อิโด")

วาระสุดท้ายของซาเมนฮอฟ

หลุมฝังศพของซาเมนฮอฟในวอร์ซอ

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ทำให้ซาเมนฮอฟ ผู้ซึ่งที่ปรารถนาให้มนุษยชาติเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งรู้สึกปวดร้าว และเนื่องด้วยสงครามครั้งนี้เขาไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งที่สิบที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งร่วมถึงผู้พูดภาษาเอสเปรันโตชาวยุโรปคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถเข้าร่วมได้ด้วยเช่นกัน สภาพความเป็นอยู่ก็เริ่มแย่ลง อาชีพแพทย์ของเขาก็ไม่สามารถทำงานได้ทั้งวันเหมือนก่อน อาดัม ลูกชายของเขาได้เข้ามาแทนที่ในงาน ต่อมาในเดือนสิงหาคมกองทัพเยอรมันบุกยึดวอร์ซอ สมาชิกในครอบครัวต้องถูกทำให้พลัดพลากจากกัน จากวันนั้นซาเมนฮอฟก็ไม่สามารถติดต่อกับลูก ๆ หรือญาติคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ที่วอร์ซอได้เลย

วันที่ 14 เมษายน 1917 ซาเมนฮอฟได้จากไปอย่างสงบ เขาได้ทุ่มเทให้กับภาษาของเขาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต Gaston Waringhien ได้เขียนเกี่ยวกับซาเมนฮอฟไว้ในหนังสือ 1887 kaj la sekvo… ว่า:

เขาเป็นคนที่ไม่ชอบแสดงออกต่อที่สาธารณะ และไม่ชอบอยู่ในพิธีที่เป็นทางการ ซึ่งถ้าหากมีความจำเป็นจริง ๆ เขาจะยอมเข้าร่วม อย่างในนามของผู้ประดิษฐ์ภาษาเอสเปรันโตเท่านั้น เขาเป็นเพียงบุคคลเพียงไม่กี่บุคคลที่เป็นมีความสำคัญในระดับนานาชาติ และเขาก็ไม่เคยหวาดกลัวต่อสิ่งที่เขาเขียนออกไปสู่สาธารณะ เพราะว่าสิ่งนั้นมาจากความสุภาพ ความจริงใจ และความรู้สึกที่มีต่อความยุติธรรมเพียงเท่านั้น

เขาไม่ใช่นักพูด ดังนั้นเขาจึงค่อย ๆ พูดและไม่ดังมากนอกจากนี้ เขาเป็นคนที่ติดบุหรี่อย่างหนัก โดยเฉพาะพวกซิการ์ ประมาณปี 1900 เขาป่วยด้วยโรคหัวใจทำให้ขาของเขาไม่มีแรง ด้วยเหตุนี้เมื่อเขาพอจะมีเงิน เขาจะต้องไปเมืองที่มีที่สำหรับอาบน้ำในประเทศเยอรมนี

แต่สิ่งที่โดดเด่นของเขาก็คือความตั้งใจอันแน่วแน่ที่ทำให้สามารถทุ่มเทให้กับอุดมการณ์ กับความอดทนอดกลั้นที่ทำให้สามารถเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ซึ่งความตั้งใจและความอดทนนี้เกิดขึ้นจากความรักที่อยากจะช่วยเหลือมนุษยชาติ อย่างผู้เผยพระวจนะในอดีตได้กล่าวไว้ว่า : "จงชูใจ จงชูใจประชากรของเรา"

แหล่งที่มา