Zamenhof.info

ภาษาเอสเปรันโต

Esperanto (เอสเปรันโต) (ชื่อเดิม: Lingvo Internacia) เป็นภาษาประดิษฐ์สำหรับการสื่อสารในระดับนานาชาติที่เป็นที่แพร่หลายมากที่สุดโลก ชื่อของภาษานี้มาจากนามปากกา “Doktoro Esperanto” นายแพทย์ชาวยิวนามว่า ลุดวิก ซาเมนฮอฟ ซึ่งในปี 1887 ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เป็นพื้นฐานของภาษาออกมา โดยฉบับแรกนั้นได้พิมพ์ขึ้นในภาษารัสเซีย และได้รับอนุญาตจัดจำหน่ายในวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของภาษา โดยที่ซาเมนฮอฟต้องการที่จะสร้างภาษาให้มีความเป็นกลางไม่เป็นของชาติใด สามารถเรียนได้ง่าย และเหมาะสมสำหรับการใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในระดับนานาชาติ และไม่มีจุดประสงค์ที่จะนำมาแทนที่ภาษาอื่น ๆ เพียงแต่เป็นเครื่องช่วยในการสื่อสารที่เรียบง่าย เรียนได้ง่าย เป็นกลาง และยุติธรรมสำหรับการสื่อสารระหว่างชาติ

ผู้เช้าร่วม Somera Esperanto-Studado ปี 2015 ประเทศสโลวาเกีย (ที่มา: Andrzej Sochacki)

ถึงแม้ว่าจะไม่มีประเทศใดรับเอาภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาราชการ อย่างไรก็ตามภาษาเอสเปรันโตก็มีการนำมาสอนในโรงเรียนในประเทศต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นในประเทศฮังการี ประเทศจีน นอกจากนี้ภาษาเอสเปรันโตก็ได้ถูกนำมาใช้ในระดับนานาชาติ โดยมีศึกษาและพบว่ามีผู้ใช้ภาษานี้ราว 1 แสน ถึง 2 ล้านคน (โดยขึ้นอยู่กับระดับความสามารถของภาษาของผู้พูดด้วย) ตามการสำรวจยังพบว่าในจำนวนนั้นมีผู้พูดภาษาเอสเปรันโตตั้งแต่เกิดอยู่ประมาณ 1 พันคน หรือมากกว่านั้น

ขบวนพาเหรดในระหว่างการประชุมใหญ่ภาษาเอสเปรันโตสากล ครั้งที่ 101 (Universala Kongreso de Esperanto) นีตรา ประเทศสโลวาเกีย (ที่มา: Jozef Baláž)

ภาษาเอสเปรันโตได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น ในมติ 2 มติของยูเนสโก หรือจากการสนับสนุนของบุคคลที่มีชื่อเสียง ในปัจจุบันมีการใช้ภาษาเอสเปรันโตเพื่อการท่องเที่ยว การโต้ตอบทางจดหมาย การประชุมระดับนานาชาติ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม วงสนทนาทางด้านวิทยาศาสตร์ งานวรรณกรรมแปลหรือต้นฉบับ ดนตรี การละคร ภาพยนตร์ รายงานต่าง ๆ ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์หรืออินเตอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์

La Perdita Generacio, วงดนตรีชาวสวีเดน กำลังร้องเพลงในภาษาเอสเปรันโต (ที่มา: Andrzej Sochacki)

คำศัพท์ในภาษาเอสเปรันโตนั้นส่วนใหญ่นำมาจากภาษาทางยุโรปตะวันตก ส่วนการสร้างคำและประโยคนั้นได้รับอิทธิพลจากภาษาในกลุ่มสลาวิก หน่วยคำในภาษาเอสเปนรันโตนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงและก็ยังสามารถนำไปประสมกันเพื่อสร้างคำใหม่ได้อย่างอิสระ และนี้ก็ทำให้ภาษาเอสเปรันโตมีส่วนคล้ายกับภาษาในกลุ่มภาษาคำโดด ตัวอย่างเช่น ภาษาจีน อย่างไรก็ตามโครงสร้างภายในของภาษาเอสเปรันโตนั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาษาคำติดต่อ ตัวอย่างเช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาสวาฮีลี ภาษาตุรกี เป็นต้น

หนังสือภาษาเอสเปรันโต: งานวรรณกรรมต้นฉบับภาษาเอสเปรันโตและฉบับแปล พจนานุกรมภาษาเอสเปรันโต

ภาษาเอสเปรันโตนั้นสามารถเรียนได้ง่ายและเร็วกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาษาธรรมชาติอื่น ๆ และเป็นภาษาที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการวิจัยพบว่า ภาษาเอสเปรันโตนั้นเรียนได้ง่ายกว่าภาษาธรรมชาติอยู่ 5 - 10 เท่า สำหรับการเรียนในระดับเพื่อการสื่อสารนั้นอาจใช้เวลาประมาร 3 - 6 เดือน ซึ่งสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง (ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นเรื่องที่ยากมากเมื่อเทียบการเรียนภาษาธรรมชาติ) มีผู้คนที่เรียนภาษาเอสเปรันโตอยู่ในหลากหลายประเทศ และมีกลุ่ม ชมรม หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับภาษาภาษาเอสเปรันโตมากว่าใน 120 ประเทศทั่วโลก

ลิงก์เพื่อการทำความรู้จักกับภาษาเพิ่มเติม

ลิงก์แหล่งเรียนรู้ภาษาเอสเปรันโต